วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

บทความ


“เจโอ” รัชเดช เครือทิวา




          นักกีฬาบาสไทยที่ดีที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดในยุคหนึ่ง คนไทยคนแรกและคนเดียวที่มีโอกาสไปเล่นบาสอาชีพที่สหรัฐอเมริกา ทุกคนที่คลุกคลีกับวงการบาสเกตบอลไทย ต้องคุ้นหน้าคุ้นตาคุ้นหูกับผู้ชายคนนี้เป็นอย่างดี เขาติดทีมชาติมาหลายชุดต่อหลายชุดด้วยกัน เป็นตัวเด่นประจำสโมสรของทิวไผ่งามมาโดยตลอด ปัจจุบันเล่นให้กับต้นสังกัดทีม โมโน แวมไพร์หลายคนรู้จักเขาในชื่อ เจโอ บ้างก็ในชื่อ โอม หรือ เจ้าโอม หรือ เติ้ล หรือ ไอ้เหนียว ไม่ก็ในนาม ปรัชญา เครือทิวา
          รัชเดช เครือทิวา เป็นคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ในวงการบาสทุกระดับ มาตั้งแต่วัยเยาว์ ไม่ว่าจะสมัยที่เรียนอยู่ โรงเรียนทิวไผ่งาม หรือ มหาวิทยาลัย ศรีนครินทร์วิโรฒ หรือ สมัยที่เล่นให้กับสโมสรทิวไผ่งามเจโอพาทีมคว้าแชมป์มานักต่อนัก เป็นผู้เล่นที่โดดเด่นระดับได้รับรางวัล ผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) ใน การแข่งขัน ถ้วยพระราชทาน ก. กับ รายการไทยแลนด์โอเพ่น




          ในสมัยนั้น รูปแบบการเล่นไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ การยิงยังคงเป็นส่วนที่สำคัญในการเล่นของเขา แต่มันมีความหลากหลายมากกว่านี้ การข้ามที่ดุเดือด การกระโดดลอยขึ้นไปยัดห่วง การป้องกันที่ย่อลงไปแล้วขยับขาตามอย่างเหนียวแน่น คุณสมบัติของเขาก่อนหน้านี้ พร้อมแล้วที่จะเป็นเบอร์ 1 ของประเทศ ถึงขั้นที่ใครหลายๆ คน มองไว้แล้วว่า คนนี้แหละ ที่รับสืบทอดตำแหน่งจาก ปราโมทย์ จันทรนิยม ซุปเปอร์สตาร์บาสเอเซียชองประเทศไทย 
ซึ่งความแรงของ เจโอ ตอนนั้น ก็ประจวบเหมาะกับที่ สิงห์ คอร์เปอร์เรชั่น ได้รับการติดต่อเป็น ผู้สนับสนุนของลีคบาสเก็ตบอลอาชีพ ลีคหนึ่งที่อเมริกา ชื่อว่า Premier Basketball League (PBL) ซึ่งเงื่อนไขในการเป็นผู้สนับสนุนนั้น ไม่มีอะไรมาก ขอเพียงแค่ทางลีคต้องมีการรับนักบาสคนหนึ่งจากไทยเข้าไปร่วมเล่นในลีกด้วย ซึ่งเมื่อผ่านการคัดกรองอะไรทั้งสิ้นทั้งปวงออกมาแล้ว ได้ออกมาเป็น รัชเดช เครือทิวา ที่จะได้มีโอกาสไปร่วมเล่นในลีกบาสอาชีพของอเมริกาคนแรกแห่งประเทศไทย

“พี่ไปอยู่ที่ แมรี่แลนด์ มาหรอครับ”
          จริงๆ ผมก็รู้อยู่แล้วแหละ ใครที่เล่นบาสในประเทศไทย จะไม่รู้ว่า คนๆ นี้ คือ คนที่ผ่านบาสอาชีพที่อเมริกามาแล้ว โดยไปเริ่มเล่นกับทีม แมรี่แลนด์ ไนท์ฮอว์กส์ เขาเล่นจบไปฤดูกาลหนึ่งกับทีมนี้ และถึงแม้ว่าจะไม่ได้ลงอย่างต่อเนื่อง แต่ฟอร์มก็ยังไปถูกตาถูกใจ กับ โค้ชของอีกทีมในลีก คือ โค้ช ร็อด เบเกอร์ ของทีม รอเชซเตอร์ เรเซอร์ชาร์คส์ 
เบเกอร์ เป็นคนที่มีประสบการณ์ที่ค่อนข้างจะโชกโชน ในวงการ โดยตอนนี้ เป็นScout/Coach ของทีม ฟิลาเดลเฟีย เซเวนตี้ซิกเซอร์  “ตอนนั้น โค้ชเบเกอร์ สนใจในตัวผม และก็ได้มีการเจรจาเทรดตัวผมไปจาก แมรี่แลนด์ ไนท์ฮอว์กซ” หลังจากที่จบฤดูกาลแรก ทีมเรเซอร์ชาร์กส์ ได้เทรดสิทธิดราฟรอบสองของตัวเอง ให้ ไนท์ฮอว์กส์ เพื่อให้ได้สิทธิในตัวผู้เล่นไทยคนแรกในบาสอาชีพอเมริกา “จากการที่ได้คุยกัน เขาตั้งใจที่จะใช้งานผมจริงๆ ตั้งใจจะปั้นขึ้นมาให้ได้ ตั้งใจจะให้ลงเล่นอย่างสม่ำเสมอ” เจโอกล่าวด้วยน้ำเสียงที่มีความตื่นเต้นหน่อยๆ ที่ได้หวนระลึกถึงช่วงนั้น “แต่เล่นไปได้เพียง 1 เกมกับซ้อมอีกไม่กี่ครั้ง ก็เกิดอุบัติเหตุระหว่างการเล่น และลูกสะบ้าก็หลุดออกมา”


“เอ็งลองจับเข่าพี่ดิ”

          เป็นคำเชื้อเชิญที่อาจจะดูผิดวิสัยในบรรยากาศดึกๆ ดื่นๆ ในรถตู้มืดๆ แต่ผมก็ยื่นมือจับออกไปจับเข่าเจโออย่างกลัวๆ กล้าๆ มือผมสัมผัสกับหัวเข่าที่กำลังพากงออยู่บนเก้าอี้ขอรถตู้ และ เจโอ ก็ค่อนๆ ยืดขาให้เหยีดตรงออกไป ตัวผมเอง ก็เป็นคนที่เคยประสบอุบัติเหตุทางบาสกับหัวเข่ามาก่อน เพราะฉะนั้นผมเองก็ค่อนข้างที่จะคุ้นเคยกับความ ฝืด ของข้อเข่าที่เสื่อม
แต่การที่ได้สัมผัสกับความฝืดของเข่าของ เจโอ ในวันนั้น เป็นความรู้สึกที่ต้องรู้สึกเจ็บแทน แทบจะรู้สึกได้เลยว่า กระดูกมีการเสียดสีกันอย่างไม่มีอะไรมาขวางกั้น
“ตอนนี้เข่าพี่เรียกว่า อยู่ในระดับ 4 ละ” เจโอบอกผม ตอนที่บรรยายเรื่องอาการบาดเจ็บ ซึ่งตรงนี้ คงหมายถึง ระดับของ การอักเสบของลูกสะบ้า โดยที่ กล่าวไว้ว่า การอักเสบในระดับที่สี่ จะมีความเจ็บปวดขณะเล่นกีฬา และ จะไม่สามารถเล่นได้ ในระดับที่พึงพอใจ

“ตอนแรกก็ว่าจะเลิกเล่นแล้วแหละ”

          จะว่าไป ผมก็ไม่ค่อยตกใจ ตอนที่ เจโอบอกกับผมว่า เขาคิดที่จะเลิกเล่นตอนนั้น อาการบาดเจ็บที่รุนแรงแบบนั้น เป็นอะไรที่น่าจะกระทบกระทั่งจิตใจหนักอยู่ แต่ทุกวันนี้เขาก็ยังเลือกที่จะเล่นบาสต่อไป “ถ้าคุณอยากจะเดินออกจากมันคุณจะแพ้ทันที…แต่ถ้าคุณกลับเข้าไปใหม่อย่างชาญฉลาดเรียนรู้ข้อผิดพลาด พร้อมจะปรับปรุงและฝึกซ้อมอยากหนัก ผมเชื่อว่าจิตใจคุณจะเข้มเเข็ง…และพร้อมจะก้าวเดินอีกครั้งนึง” เจโอ ถ่ายทอดความคิดของเขาผ่านทางเฟซบุ๊คส่วนตัว
 นอกจากจะเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลอาชีพ เจโอ ยังเคยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศรินครินทร์วิโรฒ (มศว.) อีกทั้ง ยังเป็น เจ้าของร้านขายกระเป๋าที่ตลาดนัดสวนจตุจักรอีกด้วย (ซึ่งตอนนี้พักกิจการอยู่ เนื่องจากไม่มีเวลาดูแล ในช่วงการแข่ง ABL)

“เขาเป็นคนที่รักการยิงจากก้นบึ้งของจิตใจเลยแหละ”

          นี่คือสิ่งที่ คุณเพ็ญพนอ ศิริพจนากุล ภรรยาของ โค้ช เส็ง ประเสริฐ ศิริพจนากุล 
(ที่คุมทีมโมโน แวมไพร์ อยู่ตอนนี้) คุยกับผม ในวันหนึ่ง ที่ผมไปดูการซ้อมของทีม โมโน แวมไพร์ “เวลาเขามาซ้อม เขาจะเริ่มยิงบอลตั้งแต่ก้าวเข้าในสนามซ้อม และยังคงยิงอยู่ หลังจากที่ทุกคนเลิกซ้อม และเริ่มวอร์มดาว์นกัน” และก็เป็นไปตามที่เล่าไว้จริงๆ หลังจากที่ซ้อมวันนั้น ก็จะมี เจโอ ซ้อมยิงอยู่ในสนาม ในรูปแบบต่างๆ หลังจากที่คนอื่นๆ เริ่มพอกันออกไปยืดร่างกายก่อนเลิก เช่นเดียวกัน ก่อนแข่งทุกๆ ครั้ง เราจะเห็น เจโอ เป็นคนแรกๆ ที่ลงมาในสนาม และ เขาก็จะเริ่มการวอร์มอัพท่ายิงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไปแล้ว คือการยืนยิงห่างออกจากห่วงเพียงไม่กี่เซนติเมตร และใช้แรงสะบัดจากข้อมือ ยิงไปเรื่อยๆ สลับกันสามจุด จากด้านหน้า ด้านซ้าย และ ด้านขวาของห่วง
มองแล้วรู้เลยว่า การยิงแต่ละครั้งไม่ใช่อะไรที่คนๆ หนึ่ง จะทำได้ แค่เพียง เพราะมันคือ หน้าที่ หรือ มัน คือ อาชีพ และมันก็ไม่ใช่อะไรที่ทำเพื่อคนอื่น
มันจึงเป็นคำถามคาใจที่ผมได้ปลอดปล่อยและถามออกไปในที่สุด ในค่ำคืนวันนั้น


“อะไรที่ทำให้พี่หลงใหลกับการยิงบาสเกตบอลครับ”

          เจโอ ดูเหมือนจะคิดอยู่ครู่หนึ่ง เพียงแว่บเดียวจริงๆ ก่อนที่จะตอบผมมาว่า
“มันมีอะไรที่เอ็งชอบทำเวลารู้สึกเครียด หรือ ไม่สบายใจ บ้างหรือเปล่าละ…” เจโอ โยนคำถามกลับมาหาผมแบบไม่ทันตั้งตัว สิ่งที่คนเราจะเลือกทำในช่วงเวลาที่แย่แบบนั้นมันก็ควรจะต้องเป็นสิ่งที่พิเศษสำหรับคนนั้นจริงๆสำหรับพี่มันคือบาส มันคือการยิงลูกบาสนี่แหละ


งานสัมภาษณ์

งานสัมภาษณ์

สุดยอดนักกีฬาดาวรุ่ง

          จากนักกีฬาสมัครเล่นผันตัวไปเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลอาชีพ ความเก่งไม่ได้อยู่ที่อายุแต่มันอยู่ที่ การฝึกซ้อม และ ประสบการณ์ 
คุณ เอิร์ท
ผู้เล่นทีมสโมสรการไฟฟ้า

ประวัติ

          นาย ศุภณัฐ  ร่วงราช (คุณเอิร์ท) อายุ 20 ปี เจ้าของความสูง 178ซม. เด็กหนุ่มจากจังหวัดราชบุรีที่เดินตามความฝันด้านกีฬาบาสเกตบอล เข้ามาเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยตั้งแต่อายุได้ 15 ปี หรือตอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เขาเป็นเด็กหนุ่มไฟแรงที่มีความมุ่งมันในการติดทีมชาติให้ได้ ไม่นานความฝันของเขาก็เป็นจริง โดยเขาได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งในรายการ Asean school games 2014 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ขณะเขากำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่6 หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเขาได้เข้าศึกษาต่อที่ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเป็นนักกีฬาทุนของทางมหาวิทยาลัย เขาเป็นตัวหลักในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่43 กันเกราเกมส์ ที่จังหวัดอุบลราชธานี ขณะอยู่ชั้นปีที่1 โดยฟอร์มของเขาได้ไปเข้าตาโค้ชหมู(กฤต ไพโรจน์พีระไพศาล) ผู้ฝึกสอนทีมสโมสรการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จึงได้ชักชวนให้เข้าไปซ้อมในสโมสร ซึ่งเด็กหนุ่มไฟแรงโชว์ฟอร์มดีอย่าต่อเนื่อง จึงได้เข้าร่วมกับทางสโมสร
คุณ เอิร์ธ (คนขวา)
รางวัลรองชนะเลิศ Asean school games 2014


วิดีโอคลิปการสัมภาษณ์


วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?

ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?
สุภา ศิริมานนท์


โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก


“ขุนศึกมา แล้วขุนศึกก็ไป แต่ประชาราษฎรธรรมดาสามัญเป็นรากฐานของทุกๆ สิ่ง”


นวนิยาย: ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?

ผู้เขียน: สุภา ศิริมานนท์

บรรณาธิการ: พิทยา ว่องกุล

จัดพิมพ์: โครงการสรรพสาส์น สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก

พิมพ์ครั้งแรก: สิงหาคม ๒๕๔๕
จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม
เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ ๙๗๔-๗๘๓๔-๗๘๓๔-๔๖-๔
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก


ผู้อยู่เหนือเงื่อไข?

นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน แต่เพิ่งมีโอกาสพิมพ์ครั้งแรกในเวลานี้ เมื่อสำรวจเนื้อหาทั้งหมดแล้วจะเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมงานเขียนชิ้นสำคัญของ สุภา ศิริมานนท์ เรื่องนี้จึงต้องถูกซุกซ่อนไว้จนเกือบหายสาบสูญไร้ผู้รับรู้ เพราะ ‘ท่าที’ ของการนำเสนอแม้จะยืนอยู่ข้างสัจธรรมแต่ย่อมกระทบต่อฐานความเชื่อที่ค้ำจุนโครงสร้างอำนาจกระแสหลักในสังคมไทยอย่างหลบเลี่ยงไม่ได้

ปัจจุบันแม้บรรยากาศโดยทั่วไปจะเปิดกว้าง แต่สำหรับโลกทัศน์อันจำกัดของคนบางกลุ่ม นวนิยายเรื่องนี้น่าจะยังมีปัญหาอยู่

สุภา ศิริมานนท์ เป็นปัญญาชนคนสำคัญในกระแสภูมิปัญญาที่ครั้งหนึ่งเคยเรียกกันว่า ‘วรรณกรรมก้าวหน้า’ หรือต้นธารของวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา บทบาทของเขาเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะในยุคที่คนทำหนังสือมืออาชีพกับความเป็นเจ้าของทุนยังไม่แยกห่างออกจากกันมากนัก เขาเป็นบรรณาธิการและเจ้าของนิตยสาร “อักษรสาส์น” (ปี 2492-2596) อันเป็นแหล่งชุมนุมนักคิดนักเขียนชั้นนำในสังคมไทยเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น กุหลาบ สายประดิษฐ์, นายผี, จิตร ภูมิศักดิ์, สมัคร บุราวาศ, นายตำรา ณ เมืองใต้, แสงอรุณ รัตกสิกร ฯลฯ ทำให้อุดมไปด้วยงานเขียนชั้นดีซึ่งถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำภายหลังมากมาย นอกจากนี้บทบาทของสุภายังเป็นที่ประจักษ์ในฐานะนักคิดนักเขียนผู้ยืนอยู่ข้างความเป็นธรรม เขาเป็น ‘เสรีไทย’ และเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีส่วนร่วมในเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองหลายครั้ง

สำหรับบทบาทที่เป็น ‘หมุดหมาย’ ทางปัญญา สุภาเป็นนักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสม์ เขาเรียบเรียงปรัชญามาร์กซิสม์ให้เข้าใจได้สะดวกขึ้น ในหนังสือ “แคปิตะลิสม์” (ปี 2494) และ “มาร์กซจงใจจะพิสูจน์อะไรอย่างไร?” (ปี 2518) ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง

ด้านวรรณกรรม สุภาเป็น ‘ครู’ ของนักวิจารณ์วรรณกรรมอีกท่านหนึ่งที่ช่วยวางรากฐานการวิจารณ์ โดยเฉพาะแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับมนุษยธรรม และทฤษฎีวรรณกรรมสาย Radical Criticism แต่เขาไม่ได้เป็นพวก ‘เพื่อชีวิต’ แบบคับแคบ ทรรศนะของสุภาเปิดกว้างต่อทุกศาสตร์ตามภูมิรู้อันกว้างไกลของเขา ดังจะเห็นได้จากผลงานที่รวบรวมไว้ในหนังสือ “วรรณสาส์นสำนึก” (ปี 2529)

ด้วยภูมิหลังดังที่กล่าวมา ทำให้นักอ่านไม่อาจมองข้ามนวนิยายเรื่องเดียว (ที่เขียนจบ) ของ สุภา ศิริมานนท์ ไปง่ายๆ “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ผู้ประพันธ์จับเอาเหตุการณ์ตรงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ระหว่างการสิ้นสุดรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินกับปฐมวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตามข้อมูลระบุว่า สุภาได้แรงดลใจจากเอกสารเก่าแก่ฉบับหนึ่ง ซึ่งบันทึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นโดยบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วส่งทอดต่อกันมาในตระกูล “สุนทรโรหิต” จนถึงเชื้อสายคนหนึ่งคือ จินดา ศิริมานนท์ ภรรยาของ สุภา ศิริมานนท์ นั่นเอง เนื้อความสำคัญเผยว่า พระเจ้าตากสินที่ถูกสำเร็จโทษประหารชีวิตดังที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารนั้นเป็นตัวปลอม และนั่นย่อมทำให้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนมุมมองไปอีกทางหนึ่ง

(หากสนใจประวัติศาสตร์และเอกสารสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอแนะนำให้อ่าน “การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์)

นวนิยายเริ่มด้วยฉากบนเรือสำราญที่ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขุนนางเก่ากลุ่มหนึ่งกำลังคุยกันถึงบทประพันธ์เรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน?” ของหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งพยายามเสนอสมมติฐานใหม่เกี่ยวกับพระเจ้าตาก ปัญญาชนหนุ่มคนหนึ่งเสนอตัวเข้ามาในวงสนทนา อ้างว่ารู้ความจริงอีกด้านจากการได้อ่านสมุดข่อยโบราณเล่มหนึ่ง แล้วเขาก็เล่าเรื่องปะติดปะต่อเหตุการณ์ในอดีตให้คนกลุ่มนั้นฟัง

คืนของวันที่ 6 เมษายน ปี 2325 เรือพายลำหนึ่งอาศัยความมืดเป็นเครื่องกำบังล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลักลอบพาพระเจ้าตากไปยังเรือสำเภาที่จอดรออยู่ปากแม่น้ำ โดยมีผู้จงรักภักดีที่มีใบหน้าละม้ายพระเจ้าตากเสียสละชีวิตรับโทษแทน

ระหว่างนั้นชายผู้ช่วยเหลือทั้ง 4 คน ก็ตั้งหน้าตั้งตาอภิปรายให้พระเจ้าตากเข้าใจถึง ‘เงื่อนไข’ ที่ทำให้ชีวิตต้องเผชิญกับวิกฤติเช่นนี้

“ทุกๆ สิ่งมันจะต้องเปลี่ยนไป ม็อง เยเนราล, ไม่มีมนุษย์คนใดในโลกนี้หรอกที่จะอยู่เหนือเงื่อนไข จะมีก็แต่พวกซึ่งคิดเอาเองว่าตัวอยู่เหนือเงื่อนไข เช่นพวกท่านที่เป็นกษัตริย์และชอบความเป็นกษัตริย์ หรือชอบความมีอำนาจราชศักดิ์เพื่อเอาเปรียบคนทั้งหลายเท่านั้น” (หน้า 56)

การดำเนินเรื่องใช้บทสนทนาเป็นหลัก เพราะไม่ต้องคำนึงถึงหลักฐานข้อเท็จจริงมากนัก เปิดโอกาสให้ผู้ประพันธ์แสดงการวิเคราะห์ได้อย่างเต็มที่ สุภาเชื่อมโยงเงื่อนไขต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อเสนอให้เห็นว่า การกระทำหลายอย่างของพระเจ้าตากในอดีตสะสมและส่งผลเป็นความยุ่งยากในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างไม่เป็นธรรม และมีจุดอ่อนเรื่องผู้หญิง ทำให้ฝ่ายขบถมีข้ออ้างที่จะก่อเหตุวุ่นวาย และเกิดการพลิกเปลี่ยนอำนาจมาสู่ฝ่ายที่มีกำลังพร้อมมูลกว่า

ดูเหมือนว่าสามัญชนทั้งสี่กำลังใช้โอกาสนี้ชี้ให้กษัตริย์ผู้เกรียงไกรเห็นถึงสัจธรรม เช่นเดียวกับปัญญาชนหนุ่มที่ถือโอกาสยัดเยียดความคิดให้แก่อดีตขุนนางบนเรือสำราญลำนั้น และทั้งหมดนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ประพันธ์อยากบอกกล่าวกับผู้มีอำนาจในโลกของความเป็นจริงนั่นเอง

“ระบอบขุนศึกครองเมืองย่อมเป็นเช่นนี้เอง ขุนศึกผู้เป็นใหญ่ขึ้นคนใด ถ้าไม่ระแวดระวังบัลลังก์แห่งอำนาจของตนให้ดี ไม่มีฝีมือในการดำเนินรัฐกิจ และขาดลักษณะของบัณฑิตลงเมื่อใดก็เมื่อนั้นแหละ ขุนศึกรุ่นใหม่ที่ตัวฝึกฝนและเชิดชูขึ้นไว้จะต้องทำลายขุนศึกคนเก่าลง แล้วลุยขึ้นนั่งบัลลังก์แห่งอำนาจนั้นแทนต่อไป” (หน้า 81)

ผู้ที่ต้องการอำนาจ ย่อมตกเป็นทาสของกฎแห่งอำนาจ ผู้ที่ไม่ยึดติดกับอำนาจ ย่อมไม่สูญเสีย ไม่รู้สึกหวาดระแวง และมีอิสระอย่างแท้จริง เพราะอยู่เหนือเงื่อนไขทางโลกทั้งปว

ตัวละครของสุภาสั่งสอนคติเตือนใจกันตรงๆ เช่นนี้ และอีกฝ่ายก็รับฟังอย่างดุษฎีผิดวิสัย ส่วนนี้เป็นข้ออ่อนด้อยทางเทคนิคการประพันธ์ และมีนัยถึงความอ่อนเยาว์ในอุดมคติของฝ่ายก้าวหน้าด้วย เพราะเอาเข้าจริงแล้วอำนาจเก่ายังคงรักษาโครงสร้างเดิมไว้ได้ภายใต้เงื่อนไขที่ดีกว่า อย่างน้อยการที่นวนิยายเรื่องนี้ต้องถูกเก็บดองไว้ถึง 50 ปี ก็แสดงถึงความไม่พร้อมของสังคมในการรับฟังความจริง

อย่างไรก็ตาม หากทำความเข้าใจต่อเงื่อนไขเฉพาะของผู้ประพันธ์ ที่ต้องการใช้นวนิยายเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิดมากกว่าประโยชน์ในเชิงเริงรมย์ “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ก็มีความน่าสนใจตรงที่เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในมุมมองของฝ่ายซ้าย ซึ่งตามปกติแล้วเรื่องแต่งประเภทนี้จะเขียนจากฝั่งอนุรักษ์นิยม ที่มักจะนำเอาวีรกรรมในอดีตมาค้ำยันสถานะของตนมากกว่า

กล่าวได้ว่าสุภาพยายามพลิกวาทกรรมใหม่ ด้วยการเพิ่มน้ำหนักความสำคัญให้แก่คนธรรมดาที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งหลาย แต่ไม่ได้รับการยกย่องเชิดชูเฉกเช่นผู้นำ

ดังนั้นตัวละครทั้งสี่ที่มาช่วยพระเจ้าตากจึงไม่ยอมใช้คำราชาศัพท์ แต่เรียกพระเจ้าตากด้วยภาษาฝรั่งเศสว่า “ม็อง เยเนราล” แปลว่าแม่ทัพของเรา ซึ่งมีนัยถึงความเคารพนับถือในฐานะหัวหน้าแรงงาน ไม่ใช่สมมุติเทพ

พระเอกสามัญชนทั้ง 4 คนของสุภา ศึกษาศิลปะวิทยาการหลากหลายแขนง พวกเขายกย่องความรู้สมัยใหม่จากตะวันตก และมีโอกาสได้อ่านหนังสือประเภท “ลีเตาราตูร์” หรือ “เซี้ยงส์โปลีตี๊คส์” เช่น งานเขียนของ “ญัง ญัค รูโซ” “ญัง มารี โวลแตร์” “ยอห์น ล็อค” ขณะเดียวกันก็หมิ่นแคลน “รามยณะ” “มหาภารตะ” และ “ซันกั๊วะ” (สามก๊ก) ซึ่งพวกเขาเห็นว่าก่อมายาคติอันงมงายให้แก่ชนชั้นปกครอง

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สุภาแสดงการหักล้างอย่างชัดเจนและค่อนข้างรุนแรง คือการโต้แย้งว่าผู้นำประเทศไม่ใช่ “พ่อแม่” ของประชาชน ประชาชนต่างหากที่เป็น “พ่อแม่” ของผู้นำ อันเป็นการงัดง้างมโนภาพของการปกครองแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ ที่ผู้มีอำนาจทั้งก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 อ้างใช้เป็นฉากหน้าของการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

ถึงกระนั้นร่องรอยความคิดใน “ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข?” ก็ไม่ได้เอียงไปทางซ้ายสุดขั้ว แต่พยายามเทียบเคียงปรัชญาสมัยใหม่เข้ากับพุทธธรรม ดังที่มีผู้เบิกทางไว้บ้างแล้ว เช่น พุทธทาส, สมัคร บุราวาส, กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ สำหรับ สุภา ศิริมานนท์ คำว่า ‘เงื่อนไข’ ที่เขาใช้มีลักษณะเป็น ‘วิภัชชวาท’ หรือการทำความเข้าใจกับความจริงโดยวิธีจำแนกพิจารณาตามเงื่อนไข ให้เห็นพร้อมทั้งส่วนดีและส่วนเสีย ขณะเดียวกันก็มีลักษณะเป็น ‘causation’ หรือปัจจยาการที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามแนวคิดแบบวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ (Historical Materialism)

ตอนหนึ่งตัวละครยกคาถาธรรมบทที่ว่า “มโนปุพพงฺคมา ธมฺมา / มโนเสฏฐา / มโนมยา” ขึ้นมากล่าว และแปลว่า “ธรรมทั้งหลายมีใจมาก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ” ซึ่งตามทรรศนะของผู้ประพันธ์เห็นว่า คำว่า ‘มโน’ หรือ ‘ใจ’ น่าจะหมายถึง ‘ความคิด’ หรือ ‘เจตนา’ คิดเช่นไร ทำเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

การกระทำเรื่องไม่ดีไม่งามของพระเจ้าตากเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในภายหลัง แต่กรรมดีที่มีอยู่ก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่ศรัทธาและปรารถนาดี

“น กมฺมุนา กิญจน โมฆมตฺถิ อะไรๆ ที่ทำเข้าไว้แล้วซึ่งจะไร้ผลเป็นไม่มี!” (หน้า 44)

เขียน: 14 ตุลาคม 2545
พิมพ์ครั้งแรก: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

สรุป

ผู้อยู่เหนือเงื่อนไขเป็นเรื่องราวเหตุการณ์ในครั้งที่พระเจ้าตากสินถูกก่อการกบฏขึ้นในพระนคร โดยผู้ที่ก่อการกบฏเป็นขุนนางและข้าราชบริพารของพระองค์เอง การก่อการกบฏในครั้งนี้มีหลายสาเหตุ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้อ้างกัน เช่น พระเจ้าตากสินมีอาการทางจิตไม่สามารถควบคุมความคิดและการกระทำของตัวเองให้อยู่ในร่องในรอยได้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่ระบุว่าท่านมีอาการทางจิต เป็นต้นว่า การบังคับให้พระสงฆ์ไหว้ท่าน การเฆี่ยนตีพระสงฆ์และบังคับให้ดำน้ำเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ครั้งหนึ่งท่านเคยลงโทษสนมคนหนึ่งโดยให้ฝีพายทั้งกลุ่มรุมข่มขืน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ท่านรู้สึกผิดในภายหลัง ถึงกับจะฆ่าตัวตายตามโดยการราดน้ำมันเพื่อเผาตัวท่านเอง 

ในอีกข้ออ้างหนึ่งในทางประวัติศาสตร์ก็ว่า ท่านอาจจะไม่ได้เสียสติ แต่ท่านมีความบกพร่องทางด้านการบริหารราชการ และในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมส่วนตัว จนกระทั่งก่อให้เกิดความไม่พอใจกับคนหลายกลุ่ม หรือเป็นอาการที่เรียกว่าลุแก่อำนาจ จนไม่สามารถควบคุมสติและการกระทำใดๆ ให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขอันเหมาะสมได้ ในนวนิยายเรื่องผู้อยู่เหนือเงื่อนไข ใช้ข้ออ้างหลังนี้ในการอธิบายถึงสาเหตุในการก่อการกบฏ นั่นคือ พระเจ้าตากสินทรงมีข้อบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดินในการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ลุ่มหลงในสิ่งที่ไม่ควรลุ่มหลง สร้างความไม่พอใจให้แก่ขุนนางข้าราชบริพาร และก่อให้เกิดความทุกข์ยากขึ้นกับประชาชน

วรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ได้มีความโดดเด่นในฐานะข้อมูลทางประวัติศาสตร์ใดๆ หรือจะสามารถในไปใช้เป็นข้อพิสูจน์เกี่ยวกับการสวรรคตของพระเจ้าตากสินได้อย่างหนักแน่น แต่สิ่งที่วรรณกรรมเรื่องนี้มีความโดดเด่นก็คือ บทสนทนาของคณะผู้ช่วยเหลือที่เข้ามาช่วยเหลือสับเปลี่ยนตัวก่อนที่พระเจ้าตากจะถูกสำเร็จโทษ และพาพระองค์ลี้ภัยไปยังที่ที่ปลอดภัย บทสนทนาดังกล่าวเป็นเหมือนกับการคลาย “มนต์แห่งอำนาจ” ที่พระองค์โดนสาปอยู่ให้ปลาสนาการไปได้ และทำให้พระองค์ได้มีโอกาสลิ้มรสถึงสัจจธรรมแห่งอำนาจ และเข้าใจถึงสิ่งที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงสำหรับความเป็นมนุษย์ ในท้ายที่สุด




วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แนะนำตัว



นาย ภัทร   จิตศานติกุล ชื่อเล่น เอิร์ธ 5804116
นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ สาขา สื่อสารการกีฬา
มหาวิทยาลัยรังสิต